เมนู Toggle

POPULAR

รู้จักมาตรฐานคุณภาพไทย เพื่อความมั่นใจในผลิตภัณฑ์

รู้จักมาตรฐานคุณภาพไทย เพื่อความมั่นใจในผลิตภัณฑ์

                     รู้จักมาตรฐานคุณภาพไทย เพื่อความมั่นใจในผลิตภัณฑ์

    ประเทศไทยให้ความสำคัญของการควบคุมคุณภาพสินค้า โดยรัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มีหน้าที่ดำเนินงานด้านมาตรฐานของประเทศ เพื่อความปลอดภัยและเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจละสังคมแห่งชาติอีกด้วย

มาตรฐานพื้นฐาน (Basic Standard)

    หมายถึง ประเภทหนึ่งของมาตรฐานซึ่งมีการกำหนดอย่างกว้าง ๆ ในแต่ละด้าน เพื่อประโยชน์ในการ ศึกษาและการนำไปใช้งานที่เกี่ยวข้อง (บางประเทศใช้ Fundamental Standard หรือ General Standard ) ได้แก่ มาตรฐานหน่วยการวัดต่างๆ มาตรฐานวิธีปฏิบัติ มาตรฐานการทดสอบ หรือมาตรฐานคุณภาพ

มาตรฐานสำหรับการผลิตที่เป็นยอมรับในประเทศไทยได้แก่

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

     หมายถึง มาตรฐานซึ่งมีข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพบางประการ หรือทั้งหมดที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งแล้วแต่ความจำเป็นหรือความเหมาะสมในขณะนั้น ๆ โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์นี้จะมีข้อกำหนดที่เป็นคุณลักษณะที่ต้องการโดยตรงหรือโดยอ้อมของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด เช่นการกำหนดคำจำกัดความหรือนิยาม จำนวนแบบ เกณฑ์ทางเทคนิค คุณสมบัติที่สำคัญ คุณภาพของวัตถุที่นำมาผลิตกรรมวิธีในการทำ วิธีวิเคราะห์ หรือการบรรจุ และหีบห่อ เป็นต้น

GMP (Good Manufacturing Practice)

      หมายถึง หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร เป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุมเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม และทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยเน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้อาหารเป็นพิษ เป็นอันตราย หรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค มาตรฐาน GMP เป็นระบบประกันคุณภาพที่มีการปฏิบัติ และพิสูจน์จากกลุ่มนักวิชาการด้านอาหารทั่วโลกแล้วว่า สามารถทำให้อาหารเกิดความปลอดภัย เป็นที่เชื่อถือยอมรับจากผู้บริโภค โดยอาศัยหลายปัจจัยที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ดังนั้นหากยิ่งสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดได้ทั้งหมด ก็จะทำให้อาหารมีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัยมากที่สุด

HACCP

      คือ ระบบการการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (Hazard Analysis and Critical Control Point) ระบบมาตรฐาน HACCP เป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดยมีการควบคุมการผลิตในการผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย เน้นที่การป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่จะทำให้อาหารเป็นพิษ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถยกระดับมาตรฐานการผลิตให้กับโรงงาน โดยมีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของอาหารอย่างมีระบบ และสามารถเพิ่มอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ สอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า

มาตราฐานอาหารฮาลาล

      สถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาลคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่ให้การรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลแห่งชาติ หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพตามศาสนบัญญัติ เพื่อการรับประกันให้ชาวมุสลิมสามารถบริโภคได้อย่างสนิทใจ

เครื่องหมายมาตรฐาน Q

      สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นองค์กรที่ให้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้สำหรับฟาร์มหรือแหล่งปลูกที่ดำเนินการตาม GAP (Good Agriculture Practices หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม) มีมาตรฐาน COC (Code of Conduct หรือข้อกำหนดที่เกียวข้องกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม) และ ระบบประกันคุณภาพ GMP (Good Manufacturing Practice หรือหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร)

มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ ISO 9000

       มุ่งส่งเสริมให้มีการนำการบริหารโดยการมองและคิดอย่างเป็นกระบวนการสำหรับการจัดทำระบบบริหารคุณภาพ การนำระบบบริหารคุณภาพไปประยุกต์ใช้ และการปรับปรุงประสิทธิผลของระบบบริหารขององค์การ ทั้งนี้ก็เพื่อให้องค์การสามารถเสริมสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าของตนด้านการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

มาตรฐานผลิตตภัณฑ์อินทรีย์

      กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นองค์กรที่ให้การรับรองเครื่องหมายรับรองมาตรฐานระบบการผลิตทางการเกษตรที่คำนึงถึงการใช้ปัจจัยการผลิตจากสารอินทรีย์ เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ รักษาสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

       หมายถึง ข้อกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชน เป็นข้อกำหนดที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน เหมาะกับสภาพการผลิตของชุมชน เครื่องหมาย มผช. ให้การรับรองโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) โดยจะมีเงื่อนไขการรับรอง ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และต่างจากการให้การรับรองเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ของสมอ. จะแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.)

ก่อน ชวนรู้จักกล้องวงจรปิด 6 ประเภท เลือกแบบไหน? เหมาะกับที่พักอาศัย
ต่อไป อ่างล้างหน้าตัน จัดการเองได้ ไม่ง้อช่าง