เราใช้คุกกี้เพื่อทำให้ประสบการณ์ของคุณดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งใหม่ของ e-Privacy เราจำเป็นต้องขอความยินยอมจากคุณในการตั้งค่าคุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติม
เข้าใจข้อจำกัดการทำ “Smart Farming” เพื่อช่วยเกษตรไทยอย่างตรงจุด
Smart Farming คือการทำเกษตรอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการระบบการเพาะปลูกในทุกขั้นตอน และสามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยเทคโนโลยี เพื่อทำการตรวจสอบ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ และแก้ปัญหาการเพาะปลูกได้แบบ Real Time พร้อมกับสามารถแสดงผลข้อมูลการเจริญเติบโตและคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ
ณ ขณะนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ในจุดเริ่มต้นของการทำเท่านั้น เนื่องจากการทำ Smart Farming จำเป็นต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ และได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน อีกทั้งตัวเกษตรกรเองก็จำเป็นต้องมีการเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงจากวิถีเดิมที่เคยทำมา
อุปสรรคและความยากในการทำ Smart Farming
หลายคนอาจเข้าใจมาตลอดว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ง่ายขึ้น แต่หากว่าได้ลองคิดกันอย่างถี่ถ้วนจริงๆ กว่าที่จะมาถึงจุดที่คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างแพร่หลายไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย โดยเฉพาะในภาคเกษตร ที่ใครหลายคนต่างเคยตั้งคำถามกันว่า ทำไมเกษตรกรไทยไม่ใช้เทคโนโลยี ทำไมเกษตกรไทยยังทำฟาร์มแบบเก่า ซึ่งคำถามเหล่านี้ต่างก็เป็นความท้าทายที่จำเป็นต้องหาทางช่วยเหลือและแก้ไข เพื่อให้เกษตรกรไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น จริงๆ แล้วมีจำนวนมาก และมีความซับซ้อนของปัญหาสูง แต่หากจะต้องการจำแนกอย่างกว้างๆ สามารถจำแนกปัญหาออกมาได้ดังนี้
หลายครั้งที่หลายคนเข้าใจไปว่านวัตกรรมจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งนั่นเป็นแค่การมองไปถึงปลายทางของการใช้นวัตกรรม แต่หากมองกันอย่างละเอียด การที่คนทั่วไปจะสามารถใช้นวัตกรรมได้ จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนในกระบวนการสร้างสภาพแวดล้อมให้ใช้นวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หากต้องการทำระบบให้น้ำอัตโนมัติ เพื่อควบคุมการให้น้ำในฟาร์มผ่านสมาร์ทโฟนได้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ ฟาร์มส่วนใหญ่ของเกษตรกรไทยจะใช้ระบบไฟบ้าน ซึ่งไม่สามารถตอบสนองกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของระบบได้อย่างเพียงพอ
จำเป็นต้องมีการจ้างวิศวกรเพื่อออกแบบระบบไฟใหม่ให้เป็นระบบอุตสาหกรรม กว่าที่ระบบการให้น้ำจะสามารถใช้งานได้จริง และยังต้องมีอีกหลายอย่างที่จำเป็นต้องวางแผน เช่น ระบบชลประทาน การวางผังไร่ การวางระบบท่อน้ำ ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้หลากหลายในการออกแบบและสร้างระบบเหล่านี้
ในการปรับระบบฟาร์มมาเป็น Smart Farming นั้น หลายคนมักจินตนาการว่าทุกอย่างจะเป็นระบบที่มีข้อมูลที่ชัดเจน มีเทคโนโลยีชั้นสูง มีการให้ข้อมูลกลับมาสู่เกษตรกรแบบละเอียด ครบถ้วน แต่ในหลายๆ ครั้ง ข้อมูลหรือระบบในการใช้งานเหล่านั้นก็สูงและยากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งจะทำให้การทำฟาร์มอัจฉริยะไม่ประสบผลสำเร็จ
เพราะถึงแม้ว่าจะมีนวัตกรรมที่ดีพอ แต่ผู้ที่ใช้งานกลับเกิดความยุ่งยากในการเรียนรู้ที่จะใช้ รวมไปถึงความซับซ้อนของเทคโนโลยีก็มีสูงเกินกว่าผู้ที่ไม่เคยได้ศึกษาจะเข้ามาทำความเข้าใจได้ ดังนั้นการออกแบบระบบ Smart Farming จำเป็นต้องมองลงไปถึงความคุ้นชินเดิมของผู้ที่ใช้งานจริง เพื่อให้ความยุ่งยากในการเรียนรู้ไม่สูงเกินไป
เนื่องด้วยกระบวนการและขั้นตอนในการทำการเกษตรนั้นมีความหลากหลาย และผู้ผลิตเทคโนโลยีเองก็อาจไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทุกจุดของการทำการเกษตร ทำให้ในแต่ละขั้นตอนของการปลูก จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีของผู้ผลิตหลายๆ เจ้าเข้ามาใช้งานร่วมกัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้ผลิตแต่ละเจ้าต่างก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ทำให้การเชื่อมโยงมีความยากลำบาก และอาจทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยก็เป็นได้
โดยส่วนใหญ่แล้ว เกษตรกรรายย่อยที่ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มักมีภาระในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว หากจำเป็นต้องลงทุนในการทำระบบ Smart Farming ที่มีต้นทุนเริ่มต้นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีต้นทุนแฝงในอนาคตที่ตามมาอีกจำนวนมาก อาจทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้จริงเนื่องจากไม่สามารถลงทุนกับเทคโนโลยีได้
ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทำระบบฟาร์มอัจฉริยะกันมากขึ้นแล้ว แต่ยังเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น และยังไม่แพร่หลายมากเนื่องด้วยปัญหาต่างๆ เช่น ต้นทุน การนำเข้าเครื่องมือ อุปกรณ์ และความคุ้มค่าในการผลิตที่อาจยังไม่เห็นชัด แต่หากว่าเมืองไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เองเพื่อทำให้ต้นทุนถูกลง และเกษตรกรไทยได้รับการสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านมาใช้ระบบ Smart Farming กันอย่างแพร่หลาย จะทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ต้องการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าอย่างมากให้กับวงการเกษตรกรไทย
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @_lifeelevated_
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @Lifeelevated
Blockdit: Life Elevated
Login and Registration Form